ผักหวานบ้าน หรือมะยมป่า

สมัยก่อนเมื่อยังเป็นเด็ก เข้าไปเที่ยวในป่าหลังบ้าน เห็นต้นมะยมป่า ไม่เคยนึกเลยว่า เป็นผักที่กินได้ พอมาเจอผัดผักหวานกับน้ำมันหอย รู้สึกคุ้นเคยว่า ผักชนิดนี้เคยเห็นที่ไหน เข้าอินเทอร์เน็ตลองค้นดู จึงรู้ว่า ผักหวานบ้าน กับมะยมป่า ที่เคยเห็นสม้ยเป็นเด็ก เป็นพืชชนิดเดียวกัน

กินผักหวานได้ประโยชน์
ผักหวานบ้าน ทำอาหารได้หลายอย่าง ง่ายที่สุดคือนำมาลวกจิ้มน้ำพริก หรือนำไปแกง เช่น แกงเลียง หรือแกงจืด นอกจากนั้นยังนำไปผัด เช่น ผัดน้ำมันหอย เป็นต้น น่าสังเกตว่า ชนิดอาหารที่ปรุงจากผักหวานบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผักจิ้ม แกงเลียง แกงจืด หรือผัดน้ำมันหอย ล้วนแล้วแต่มีเครื่องปรุงแต่งน้อย เพราะต้องการให้ได้รสชาติของผักหวานบ้านมากเป็นพิเศษ เพราะถือว่ามีรสชาติดีกว่าผักทั่วไป

ใบและยอดอ่อนของผักหวาน มีวิตามินเอมากเป็นพิเศษ คือใน ๑๐๐ กรัม มีวิตามินเออยู่สูงถึง ๑๖,๕๙๐ หน่วยสากล (IU) และมีวิตามินเคอยู่ด้วย วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา วิตามินเคมีสรรพคุณในการช่วยให้เลือดแข็งตัวเมื่อมีบาดแผลเลือดออก ช่วยให้ตับทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานร่วมกับวิตามินดีในการควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย ช่วยเสริมสร้างเซลล์กระดูกและเนื้อเยื่อไต

ผักหวานบ้าน มีคุณค่าทางโภชนาการมากมายมีสารอาหารหลายชนิด ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และแร่ธาตุที่มีประโยชน์ ต่อร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินซี มีเบต้า-แคโรทีน สารต้านมะเร็งเป็นตัวนำ ตามด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัสเพื่อกระดูกแข็งแรง ต่อด้วยแมกนีเซียมช่วยในการยืดหดของกล้ามเนื้อ

การปลูกผักหวานบ้าน

การปลูกผักหวานบ้าน ผักหวานปลูกง่าย เป็นพืชพื้นบ้านทำ สามารถปลูกได้โดยการเพาะชำกิ่ง ผักหวานบ้านสามารถแตก
หน่อขึ้นเป็นต้นใหม่รอบๆต้นเดิมได้เช่นเดียวกับต้นไผ่ ทำให้ทรงพุ่มแผ่กว้างออกไปด้านข้างได้ดี และทำให้ลำต้นอ่อนอยู่เสมอ ทั้งเมื่อเด็ดยอดแล้วก็สามารถแตกยอดออกมาใหม่ได้อีกด้วย

สรรพคุณทางยา

ราก : เป็นยาถอนพิษร้อน พิษไข้ พิษทราง ถอนพิษสำแดง กินของแสลงเป็นพิษ แก้ขัดเบา แก้ไอ แก้คางทูม คอพอก แผลฝี
ใบ : ปรุงเป็นยาเขียวกระทุ้งพิษ เป็นยาประสะน้ำนม ช่วยมดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น แก้แผลฝี
ดอก : ใช้ขับโลหิต

ข้อควรระวัง

การรับประทานผักหวานไม่ควรรับประทานสดๆ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากผักหวานบ้านมีสารอัลคาลอยด์ปาปาเวอรีน (papaverine) ซึ่งเป็นพิษต่อปอด และมีรายงานผู้ป่วยที่เป็นโรคที่เนื้อเยื่อปอดถูกทำลายชนิด bronchiolitis obliterans (SABO) syndrome จากการกินผักหวานเป็นจำนวนมากเพื่อต้องการลดน้ำหนัก



อ้างอิง
http://thrai.sci.ku.ac.th/node/1482
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/332516
http://en.wikipedia.org/wiki/Sauropus_androgynus

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุปมา อุปไมย สำนวนการเปรียบเทียบ ของไทย

แนวข้อสอบ เงื่อนไขสัญลักษณ์

ความสามารถทั่วไปด้านเหตุผล การหาความสัมพันธ์จาก ภาพ สัญลักษณ์