เทคนิคการทำข้อสอบ ก.พ. วิชา ภาษาไทย

เทคนิคการทำข้อสอบ ก.พ. วิชา ภาษาไทย



ข้อสอบวิชาภาษาไทย ของ ก.พ. ครอบคลุมเรื่องใหญ่ ๆ 2 เรื่อง คือ การใช้ภาษา และ ความเข้าใจภาษา

การใช้ภาษา
จะวัดความสามารถในด้านการใช้ภาษาไทย ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นการใช้ภาษาในระดับ คำหรือกลุ่มคำ ประโยค หรือข้อความสั้น ๆ รวมทั้งความสามารถในการเรียงลำดับข้อความเป็นประโยคได้ถูกต้อง เหมาะสม

ความเข้าใจภาษา
จะวัดความสามารถในด้านความเข้าใจภาษา โดยสามารถสรุปความ จากข้อความสั้น ๆ หรือ บทความได้ ทั้งนี้ โดยจะกำหนดเรื่อง หรือบทความให้อ่าน แล้วตอบคำถาม ซึ่งนอกจากจะสรุปความจากเรื่องที่อ่านแล้ว ยังอาจจะให้มีการแปลความ หรือตีความอีกด้วย

ลักษณะของข้อสอบวิชาภาษาไทย
จากการสังเกต วิเคราะห์แนวข้อสอบของ ก.พ. พบว่า ลักษณะข้อสอบวิชา ภาษาไทย มักจะมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
  1. การเติมคำลงในช่องว่างให้ถูกต้องและตรงตามบริบท ออกข้อสอบจำนวน 5 ข้อ
  2. การเรียงลำดับข้อความ ออกข้อสอบจำนวน 5 ข้อ
  3. การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องรัดกุมตามบริบทและความหมาย ออกข้อสอบจำนวน 10 ข้อ
  4. การสรุปความและการตีความ ออกข้อสอบจำนวน 5 ข้อ
  5. ความเข้าใจในการอ่านบทความสั้นและบทความยาว ออกข้อสอบจำนวน 15 ข้อ

ข้อสอบการการใช้ภาษา
เป็นข้อสอบเกี่ยวกับความหมายของคำ ตลอดจนการใช้คำเชื่อม เช่น บุพบท และสันธาน เช่น คำว่า กับ แก่ แต่ ต่อ ที่ ซี่ง อัน เป็นต้น ตลอดจน การใช้คำฟุ่มเฟือย ไม่เหมาะสม ดังนั้น ในการทำข้อสอบจึงต้องพิจารณา ถึงสถานการณ์และความหมายของประโยค ด้วย เพื่อความถูกต้อง

ตัวอย่าง

เยาวชนที่กระทำความผิดลหุโทษต้องอยู่ใน ......... ของกรมคุมประพฤติหรือถูกกักกันในสถานพินิจ
1. ความดูแล
2. ความควบคุม
3. ความพิทักษ์
4. ความช่วยเหลือ

คำตอบคือ 2 เพราะผู้ที่ทำความผิด ต้องถูกควบคุม คำว่า ควบคุม ใช้กับ ผู้คุม - ผู้ถูกกักขัง
ดูแล ใช้กับ พ่อแม่ - ลูก
พิทักษ์ หมายถึง ปกป้อง คุ้มครองไม่ให้เกิดอันตราย
ความช่วยเหลือ คือ การกระทำที่ช่วยให้บุคคลอื่นประสบความสำเร็จ

ในวันเข้าพรรษา สาธุชนจำนวนมาก ถวายดอกไม้ ......... พระภิกษุสงฆ์
  1. กับ
  2. แก่
  3. แด่
  4. ต่อ
ข้อที่ถูกคือ แด่ เพราะ เราใช้ คำว่า "แด่" กับบุคคลที่เคารพนับถือ
กับ เป็นคำที่เชื่อมคำหรือความเข้าด้วยกัน มีความหมายว่า รวมกันหรือเกี่ยวข้องกัน เช่น ฟ้ากับดิน กินกับนอน หายวับไปกับตา
แก่ ใช้กับบุคคลที่มีฐานะทางสังคมน้อยกว่า เช่น ให้เงินแก่เด็ก
ต่อ เรียกสิ่งที่เชื่อมเข้าด้วยกัน เช่น คำต่อ (คือคำบุรพบทและคำสันธาน) ข้อต่อ บ.เฉพาะ, ประจันหน้า, เช่น ต่อหน้า ยื่นต่ออำเภอ

ตาม ......... ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นประธานในพิธี จะมาถึง เวลาประมาณ 10 นาฬิกา
  1. หมายกำหนดการ
  2. กำหนดการ
  3. ระเบียบการ
  4. ข้อกำหนด
ข้อที่ถูกคือ ข้อ 2 เพราะ หมายกำหนดการ ใช้กับงานพระราชพิธีเท่านั้น
กำหนดการ หมายถึง ขั้นตอนของงานที่จะต้องทำตามลำดับ
ระเบียบการ คือ ข้อกำหนด หรือข้อบังคับที่ตั้งขึ้นเป็นแนวปฏิบัติ
ข้อกำหนด ใช้ไม่ได้กับกรณีนี้

ข้อใดใช้ภาษากระชับที่สุด
  1. เขาเป็นหวัดในทุกครั้งที่ฝนตก
  2. ท่านจะได้ซื้อสินค้าซึ่งมีราคาถูก
  3. เขามีความจำเป็นต้องรีบกลับบ้าน
  4. นายแพทย์ตรวจร่างกายคนไข้ทุกวัน
คำตอบที่ถูก คือ ข้อ 4 ไม่มีถ้อยคำฟุ่มเฟือย ส่วนข้ออื่นแก้ไขให้เหมาะสมดังนี้
เขาเป็นหวัดทุกครั้งที่ฝนตก
ท่านจะได้ซื้อสินค้าราคาถูก
เขาจำเป็นต้องรีบกลับบ้าน

ข้อสอบลักษณะบทความสั้น
เป็นข้อสอบที่ใช้วัดความเข้าใจภาษา ตลอดจนการแปลความ และตีความได้ถูกต้อง ตรงกับความหมายของบทความที่กำหนดให้

ตัวอย่าง

คนส่วนมากเขาเรียกโลกที่เราอยู่นี้ว่า โลกมนุษย์ แต่เสือที่มันอาศัยอยู่ในโลกนี้เหมือนกัน มันก็คงเรียกว่า “โลกของ เสือ” และมดก็คงเรียกว่า “โลกของมด” สรุปแล้วโลกของเรานี้ ก็เป็นส่วนตัว ใครก็ตามมองโลกไปทางไหนก็ไปทางนั้น ใคร หลับตาตายไปเมื่อไร โลกก็สิ้นสุดสำหรับคนนั้น

ข้อความที่ยกมานี้ตรงกับจิตวิทยาข้อใด

1. ความแตกต่างระหว่างบุคคล
2. พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
3. สิ่งเร้าและการตอบสนอง
4. การเรียนรู้ตามทฤษฎีของ Bloom

เฉลย
ข้อ 1 ถูกต้อง เพราะ เป็นการพูดถึงความแตกต่างของการมองสิ่งแวดล้อม ซึ่งความแตกต่างนี้อาจจะเกิดได้จากกรรมพันธ์ หรือสิ่งแวดล้อมก็ได้
ข้อ 2 ไม่ถูก เพราะ ในบทความไม่ได้กล่าวอ้างถึง อิทธิพลของพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง
ข้อ 3 ไมถูก เพราะ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องความสำคัญของสิ่งเร้า ที่มีต่อพฤติกรรมการตอบสนอง
ข้อ 4 ไม่ถูก เพราะ ไม่เกี่ยวกับทฤษฎีของ Bloom ซึ่งเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ เช่น ด้านความจำ ความเข้าใจ เป็นต้น

จากบทความข้างต้น ถ้าแดงเป็นชาวนา โลกของแดง จะเป็นเรื่องอะไร

1. การประกันราคา
2. กองทุนทดแทน
3. การแทรกแซงตลาด
4. กองทุนสวัสดิการสังคม

เฉลย
ข้อ 1 ถูกต้อง เพราะ ชาวนาย่อมจะสนใจในเรื่องราคาพืชผล
ข้อ 2 ไม่ถูก เพราะ กองทุนทดแทน เป็นเรื่องเกี่ยวกับ สิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน ผู้ที่สนใจ คือ พนักงาน ลูกจ้าง มากกว่าชาวนา
ข้อ 3 ไม่ถูกเพราะ เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของนักเศรษฐศาสตร์ มากกว่า ชาวนาธรรมดา
ข้อ 4 ไม่ถูก เพราะ เป็นเรื่องของ พนักงาน ลูกจ้าง มากกว่า เป็นเรื่องของ ชาวนา

โดยสรุป
การทำข้อสอบวิชาภาษาไทย จะต้องมีความรู้ทั้งในด้านการใช้ภาษา ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ไวยากรณ์ ความเหมาะสมทั้งในสถานการณ์ต่าง ๆ และ ความหมายของคำ อีกทั้ง ยังต้องเข้าความหมาย สามารถแปลความ ตีความได้อย่างถูกต้อง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุปมา อุปไมย สำนวนการเปรียบเทียบ ของไทย

แนวข้อสอบ เงื่อนไขสัญลักษณ์

ความสามารถทั่วไปด้านเหตุผล การหาความสัมพันธ์จาก ภาพ สัญลักษณ์