เทคนิคการทำข้อสอบ ก.พ. ภาษาไทย บทความสั้น

ข้อสอบ บทความสั้น เป็นการอ่านบทความที่โจทย์ให้มาประมาณไม่เกิน 3-4 บรรทัด แล้วตอบคำถามที่โจทย์กำหนดให้ คำถามส่วนใหญ่ มักจะถามเกี่ยวกับ ใจความสำคัญ จุดประสงค์ของผู้เขียน หรือให้ตีความ แปลความ ขยายความ ความสอดคล้อง เป็นต้น
ลักษณะคำถามของบทความสั้น
  1. ให้สรุปใจความสำคัญ เช่น ข้อใดคือใจความสำคัญของบทความ ข้อใดสรุปได้ถูกต้อง สาระสำคัญของข้อความข้างต้นคือข้อใด ข้อความข้างต้นกล่าวถึงเรื่องใด ข้อความนี้สรุปได้ว่าอย่างไร เป็นต้น
  2. ให้ตีความบทความสั้น เช่น ข้อใดตีความได้ถูกต้อง ข้อใดสอดคล้องกับบทความ ข้อความข้างต้นมีความหมายตรงกับข้อใด เป็นต้น
  3. ให้หาจุดประสงค์หรือความคิดเห็นของผู้เขียน เช่น ข้อใดเป็นวัตถุประสงค์ของผู้เขียน ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์อย่างไร ในการเขียนข้อความนี้ จากบทความนี้่ ผู้เขียนมีความคิดเห็นอย่างไร เป้าหมายของผู้เขียน คืออะไร ความต้องการของผู้เขียนคืออะไร เป็นต้น
  4. อื่น ๆ เช่น ถามรายละเอียดของบทความ ถามเกี่ยวกับคำศัพท์ หรือ ให้ตั้งชื่อเรื่อง เป็นต้น

การจับใจความสำคัญ ใจความสำคัญของข้อความในแต่ละย่อหน้าจะปรากฏดังนี้
ดาวน์โหลด App สอบ ก.พ. สำหรับ Android ฟรี ที่ Play Store
  • ตามหลักสูตร ก.พ. ใหม่
  • มีแนวข้อสอบ มากกว่า 1,000 ข้อ
  • มีเฉลยอย่างละเอียด มีคำอธิบายทุกข้อ
  • มีสรุปและเทคนิคการทำข้อสอบ
  • มีชุดข้อสอบให้ลองทำ พร้อมจับเวลา
ดาวน์โหลด ที่ Play Store คลิกที่นี่

  1. ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนต้นของย่อหน้า เช่น
    ความสมบูรณ์ของชีวิตมาจากความเข้าใจชีวิตเป็นพื้นฐาน คือ เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจความเป็นมนุษย์ และความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ มีความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติอย่างจริงใจ
  2. ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนกลางของย่อหน้า เช่น
    โดยทั่วไปผักที่ขายตามท้องตลาดส่วนใหญ่เกษตรกรมักใช้สารกำจัดศัตรูพืช หากไม่มีความรอบคอบในการใช้ จะทำให้เกิดสารตกค้าง ทำให้มีปัญหาต่อสุขภาพ ฉะนั้นเมื่อซื้อผักไปรับประทานจึงควรล้างผักด้วยน้ำหลาย ๆ ครั้ง เพราะจะช่วยกำจัดสารตกค้างไปได้บ้าง บางคนอาจแช่ผักโดยใช้น้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนตก็ได้ แต่อาจทำให้วิตามินลดลง
  3. ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนท้ายของย่อหน้า เช่น
    ความเครียดทำให้เพิ่มฮอร์โมนอะดรีนาลีนในเลือด ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เส้นเลือดบีบตัว กล้ามเนื้อเขม็งตึง ระบบย่อยอาหารผิดปกติเกิดอาการปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น แข้งขาอ่อนแรง ความเครียดจึงเป็นตัวการให้แก่เร็ว
  4. ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนต้นและตอนท้ายของย่อหน้า เช่น
    การรักษาศีลเพื่อบังคับตนเองให้มีระเบียบวินัยในการกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น เรามาอยู่วัด มานุ่งขาวห่มขาว ไม่ใช่ถือแต่ศีลแปดข้อเท่านั้น แต่เราต้องนึกว่าศีลนั้นคือความมีระเบียบ มีวินัย เราเดินอย่างมีระเบียบมีวินัย นั่งอย่างมีระเบียบ กินอย่างมีระเบียบ ทำอะไรก็ทำอย่างมีระเบียบนั่นเป็นคนที่มีศีล ถ้าเราไม่มีระเบียบก็ไม่มีศีล
  5. ผู้อ่านสรุปขึ้นเอง จากการอ่านทั้งย่อหน้า(ในกรณีใจความสำคัญหรือความคิดสำคัญอาจอยู่รวมในความคิดย่อย ๆ โดยไม่มีความคิดที่เป็นประโยคหลัก) เช่น
    การเดิน การว่ายน้ำ การฝึกโยคะ การออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนการหายใจลึกๆ ล้วนมีส่วนทำให้สุขภาพแข็งแรง
    ใจความสำคัญคือ: การทำให้สุขภาพแข็งแรงทำได้หลายวิธี

เทคนิคการจับใจความสำคัญ
  1. ใจความสำคัญ/ประโยคสำคัญ มักจะตามหลังคำต่อไปนี้ ทำให้ ปรากฏ เกิดขึ้น เกิดจาก บรรลุผล สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ หรือคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำเหล่านี้ เช่น
    สภาพการแข่งขันที่รุนแรงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
    ใจความสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เพราะผู้เขียนต้องการเน้นเรื่องเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องการแข่งขัน ซึ่งเราอาจจะคาดเดาได้ว่า ข้อความต่อ ๆ ไป อาจจะเป็นเรื่อง ผลที่เกิดตามมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
  2. ในบทความ มีข้อความที่ขัดแย้งกัน เช่น มีคำว่า "แต่" "ทั้ง ๆ ที่ .... แต่ " "อย่างไรก็ตาม" "แม้ว่า…..แต่..." "ไม่…….แต่...." เป็นต้น ใจความสำคัญ จะอยู่หลังคำเหล่านี้ เช่น
    แม้ว่าเขาจะพยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่เขาก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
  3. ในกรณีที่บทความสั้น มีคำกริยาสำคัญอยู่หลายคำที่ซ้ำกัน ให้ดูกริยาตัวสุดท้าย เช่นถ้ามีคำว่าทำให้อยู่หลายตัว ให้ดูคำว่าทำให้ตัวสุดท้าย เช่น
    ฝนตก ทำให้ถนนลื่น ทำให้ผู้ขับรถ ต้องใช้ความระมัดระวัง ในการขับรถมากยิ่งขึ้น
    ใจความสำคัญคือ การขับรถด้วยความระมัดระวัง
  4. ถ้าในบทความ มีคำว่า "เพราะ" หรือ "เนื่องจาก" แสดงว่า ประโยคที่ตามมา ไม่ใช่ใจความสำคัญ เช่น
    เขามาโรงเรียนสายเพราะต้องอยู่ช่วยพ่อแม่ขายของในตอนเช้า
    ใจความสำคัญคือ เขามาโรงเรียนสาย
    ถ้าเปลี่ยนรูปแบบประโยค โดยใช้คำว่า "ทำให้" จะพูดได้ว่า เขาต้องอยู่ช่วยพ่อแม่ขายของในตอนเช้า ทำให้มาโรงเรียนสาย
  5. การสรุปใจความสำคัญของบทความ ไม่ควรใช้ความคิดเห็นของตัวเองประกอบ ให้ดูเฉพาะข้อมูลที่มีในบทความเท่านั้น

เทคนิคการตีความบทความสั้น
  1. สรุปความ จับประเด็นสำคัญให้ได้ก่อนเป็นประการแรก
  2. ดูเจตนาของผู้เขียน หรือของบทความ
  3. คิดเพิ่มเติมต่อจากการสรุปความ โดยดูว่า ถ้าสรุปได้เช่นนี้แล้ว ต่อไปควรจะเป็นอะไร
  4. ไม่จำเป็นต้องตอบตรงตามตัวอักษร ที่มีอยู่ในบทความก็ได้
  5. ถ้าเหลือคำตอบที่สามารถตอบได้ 2 ข้อ ให้นำคำตอบแต่ละข้อไปวางไว้หน้า บทความแล้วใส่คำเชื่อมให้สอดคล้อง หลังจากนั้นให้อ่านเนื้อความทั้งหมด ถ้าดูมีเหตุผล มีความสัมพันธ์กัน แสดงว่าข้อนั้นถูกต้อง
  6. ข้อควรระวังในการทำข้อสอบการตีความคือ อย่าตอบคำถามที่เป็นการสรุปความ เพราะเขาไม่ได้ให้เราสรุปความ เขาให้เราตีความ

ตัวอย่างแนวข้อสอบการตีความ
การดูแลรักษาสุขภาพ ให้สมบูรณ์แข็งแรง โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเป็นไปอย่างปกติ เมื่อร่างกายแข็งแรง จะมีภูมิต้านทาน ไม่เจ็บป่วยง่าย

ข้อใดตีความได้ถูกต้อง

1. ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเป็นโรค
2. การมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ทำให้มีภูมิต้านทานโรค
3. สุขภาพที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง จะทำให้ภูมิต้านทานลดลง
4. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและสุขภาพดี

ข้อ 1. อาจจะเป็นการตีความที่มากเกินไป เพราะ บทความไม่ได้กล่าวถึงการป้องกันโรคแต่อย่างใด
ข้อ 2. ถูกที่สุด เพราะ การดูแลรักษาสุขภาพ ให้สมบูรณ์แข็งแรง โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็คือการทำให้สุขภาพสมบูรณ์ ทำให้มีภูมิต้านทานโรค
ข้อ 3. ไม่ถูก เพราะมีความหมายขัดแย้งกับบทความ
ข้อ 4. ไม่ถูก เพราะเป็นข้อความเดียวกันกับบทความ ไม่มีการตีความแต่อย่างใด

การหาจุดประสงค์หรือความคิดเห็นของผู้เขียน
จุดประสงค์ในการเขียนบทความ อาจจะมีหลายอย่าง เช่น เพื่อให้ข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือโน้มน้าวจิตใจ ประชดประชัน หรือ เสียดสีสังคม เป็นต้น ซึ่งอาจจะสังเกตได้อย่างชัดเจน หรืออาจจะต้องพิจารณาจากข้อความ สำนวน ที่ใช้ในบทความ จึงจะสามารถบอกจุดประสงค์ หรือความคิดเห็น ทัศนคติของผู้เขียนได้
ในบทความอาจจะมี คำ หรือข้อความที่สังเกตได้ เช่น มีคำว่า "ควร" "ควรจะ" "อาจ" "อาจจะ" "น่าจะ" "คิดว่า" "คาดว่า" "เชื่อว่า" "มีศักยภาพในการ... " "มีข้อควรพิจารณา..." "ข้อสังเกต...." เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้ จะแสดงให้เห็นถึง ทัศนะ หรือ จุดประสงค์ของผู้เขียน ได้ เช่น
ความรู้ทางเกษตรกรรม จะช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น รัฐบาลควรจะจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่ นักเรียนที่มาจากครอบครัวเกษตรกรรม
จุดประสงค์ของบทความนี้ คือ ต้องการแสดงความคิดเห็น หรือให้ข้อเสนอแนะ ในเรื่องการเพิ่มผลผลิตของเกษตรกร
แหล่งที่มา
http://tv.dopa.go.th
https://kunkrunongkran.wordpress.com
pattani.dnp.go.th/plan/newsfile/12-06-2553%5E16-09-26.doc

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุปมา อุปไมย สำนวนการเปรียบเทียบ ของไทย

แนวข้อสอบ เงื่อนไขสัญลักษณ์

ความสามารถทั่วไปด้านเหตุผล การหาความสัมพันธ์จาก ภาพ สัญลักษณ์