วินัยข้าราชการพลเรือน ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2562

วินัยข้าราชการพลเรือน

วินัย แปลว่า เครื่องนำไปในทางที่ดี

ความสำคัญของการมีวินัย เป็นแบบของคนที่ได้รับการปั้นหลอมให้เป็นคนดี สามารถควบคุมตนเอง มุ่งพัฒนาตนเองเพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับความจำเป็นและ ความต้องการทำให้มีพฤติกรรมอันเป็นระเบียบ เรียบร้อย

ดาวน์โหลด App สอบ ก.พ. สำหรับ Android ฟรี ที่ Play Store
  • ตามหลักสูตร ก.พ. ใหม่
  • มีแนวข้อสอบ มากกว่า 1,000 ข้อ
  • มีเฉลยอย่างละเอียด มีคำอธิบายทุกข้อ
  • มีสรุปและเทคนิคการทำข้อสอบ
  • มีชุดข้อสอบให้ลองทำ พร้อมจับเวลา
คลิกปุ่มข้างล่าง เพื่อไปดาวน์โหลด
ดาวน์โหลดได้จาก Google Play

การควบคุมองค์การให้มีความเป็นระเบียบในเชิงพฤติกรรมได้โดยใช้วิธีสร้างขวัญและความสามัคคี ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม โดยมีข้อปฏิบัติที่วางไว้เป็นปทัสถานแห่งความประพฤติ ซึ่งจะมีการออกกฎหรือระเบียบกำหนดการอันพึงปฏิบัติและข้อห้ามมิให้ปฏิบัติ กำหนดโทษของการฝ่าฝืนและการดำเนินการเพื่อลงโทษ ทำให้เกิดเป็นพลังส่วนหนึ่งที่จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูง

ผู้บังคับบัญชาเองต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และมีหน้าที่ต้องดูแล ส่งเสริมและพัฒนา ให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีวินัย ป้องกันมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัยและมีมาตรการดำเนินการ แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาผู้กระทำผิดวินัย

ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถรักษาวินัย โดยการเรียนรู้และเข้าใจระเบียบวินัยและศึกษาอบรม สร้างจิตสำนึกในหน้าที่ที่จะต้องรักษาวินัย ตระหนักในความสำคัญของการมีวินัยและการปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์แนวทางปฏิบัติของหน่วยงานหรือองค์กรนั้น

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่เกี่ยวข้อง

วินัยและการรักษาวินัย

มาตรา 80

ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องรักษาวินัยโดยกระทำการหรือไม่กระทำการตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ

ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ปฏิบัติราชการในต่างประเทศนอกจากต้องรักษาวินัยตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้แล้ว ต้องรักษาวินัยโดยกระทำการหรือไม่กระทำการตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. ด้วย

มาตรา 81

ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องสนับสนุนการปกครองและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

มาตรา 82

ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องกระทำการอันเป็นข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม

2. ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ

3. ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เอาใจใส่ และรักษาประโยชน์ของทางราชการ

4. ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะทำให้เสียหายแก่ราชการ หรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการจะต้องเสนอความเห็นเป็นหนังสือทันทีเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้น และเมื่อได้เสนอความเห็นแล้ว ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตาม

5. ต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการมิได้

6. ต้องรักษาความลับของทางราชการ

7. ต้องสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคีและต้องช่วยเหลือกันในการปฏิบัติราชการระหว่างข้าราชการด้วยกันและผู้ร่วมปฏิบัติราชการ

8. ต้องต้อนรับ ให้สะดวกสบาย ให้ความเป็นธรรม และให้การสงเคราะห์แก่ประชาชนผู้ติดต่อราชการเกี่ยวกับหน้าที่ของตน 9. ต้องวางตนเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ราชการและในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน กับจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยมารยาททางการเมืองของข้าราชการด้วย

10. ต้องรักษาชื่อเสียงของตน และรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย

11. กระทำการอื่นใดตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.

มาตรา 83

ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องไม่ทำการใดอันเป็นข้อห้าม ดังต่อไปนี้

1. ต้องไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา การรายงานโดยปกปิดข้อความซึ่งควรต้องแจ้งถือว่าเป็นการรายงานเท็จด้วย

2. ต้องไม่ปฏิบัติราชการอันเป็นการกระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปเป็นผู้สั่งให้กระทำหรือได้รับอนุญาตเป็นพิเศษชั่วครั้งคราว

3. ต้องไม่อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น

4. ต้องไม่ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ

5. ต้องไม่กระทำการหรือยอมให้ผู้นกระทำการหาผลประโยชน์อันอาจทำให้เสื่อมเสียความเที่ยงธรรมหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งน้าที่ราชการของตน

6. ต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

7. ต้องไม่กระทำการอย่างใดที่เป็นการกลั่นแกล้ง กดขี่ หรือข่มเหงกันในการปฏิบัติราชการ

8. ต้องไม่กระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.

9. ต้องไม่ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงประชาชนผู้ติดต่อราชการ

11. ไม่กระทำการอื่นใดตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.

มาตรา 84

ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติตามมาตรา 81 และมาตรา 82 หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 83 ผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดวินัย

มาตรา 85

การกระทำผิดวินัยในลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

1. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต

2. ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

3. ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินสิบวันโดยไม่มีเหตุ อันสมควร หรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ

4. กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

5. ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหง หรือทำร้ายประชาชนผู้ติดต่อราชการอย่างร้ายแรง

6. กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าโทษจำคุกคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือได้รับโทษที่หนักกว่าโทษจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิด ที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

7. ละเว้นการกระทำหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 82 หรือฝ่าฝืนข้อห้าม ตามมาตรา 83 อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

8. ละเว้นการกระทำหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 80 วรรคสอง และมาตรา 82 (11) หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 83 (10) ที่มีกฎ ก.พ. กำหนดให้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

มาตรา 86 กฎ ก.พ. ตามมาตรา 80 วรรคสอง มาตรา 82 (11) มาตรา 83 (8) และ (10) และมาตรา 85 (8) ให้ใช้สำหรับการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่กฎ ก.พ. ดังกล่าวใช้บังคับ

มาตรา 87

ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัยและป้องกันมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด

มาตรา 88

ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัย จะต้องได้รับโทษทางวินัย เว้นแต่ มีเหตุอันควรงดโทษตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 7

1. เรียกให้กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐหรือห้างหุ้นส่วนบริษัท ชี้แจงข้อเท็จจริงส่งเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ส่งผู้แทนหรือบุคคลในสังกัดมาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน

2. เรียกผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลใด ๆ มาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน

มาตรา 100

ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดซึ่งออกจากราชการอันมิใช่เพราะเหตุตาย มีกรณีถูกกล่าวหาเป็นหนังสือก่อนออกจากราชการว่า ขณะรับราชการได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใด อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถ้าเป็นการกล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นหรือต่อผู้มีหน้าที่ สืบสวนสอบสวนหรือตรวจสอบตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ หรือเป็นการกล่าวหาของ ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้น หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาก่อนออกจากราชการว่า ในขณะรับราชการได้กระทำความผิดอาญาอันมิใช่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทที่ไม่เกี่ยวกับ ราชการหรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณา ดำเนินการทางวินัย และสั่งลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ แต่ต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ

กรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกล่าวหา หรือฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญา หลังจากที่ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดออกจากราชการแล้ว ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจดำเนินการ สืบสวนหรือพิจารณา ดำเนินการทางวินัย และสั่งลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้เสมือนว่า ผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ โดยต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ และต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ สำหรับกรณีที่เป็นความผิดที่ปรากฏ ชัดแจ้งตามมาตรา 95 วรรคสอง จะต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ

ในกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ หรือองค์กรพิจารณาอุทธรณ์ คำสั่งลงโทษทางวินัยหรือองค์กรตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดหรือ มีมติให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เพราะเหตุกระบวนการดำเนินการทางวินัย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยดำเนินการทางวินัยให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่ วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดหรือมีมติ แล้วแต่กรณี

การดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ถ้าผลการสอบสวนพิจารณา ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงก็ให้งดโทษ

ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรา 101
(มาตรา 100 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562)

มาตรา 100/1 ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐมีมติชี้มูลความผิดข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใด ซึ่งออกจากราชการแล้ว การดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริตหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แล้วแต่กรณี การดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง หากปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงก็ให้งดโทษ
(มาตรา 100/1 เพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562)

การสั่งพักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน

มาตรา 101

ข้าราชการ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา (เว้นแต่กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ) ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งพักราชการ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนหรือพิจารณาหรือผลแห่งคดีได้

ถ้าภายหลังผลการสอบสวนมิได้กระทำผิดหรือกระทำผิดไม่ถึงกับจะให้ลงโทษปลดออกหรือไล่ออก และไม่มีกรณีที่จะต้องออกจากราชการด้วยเหตุอื่น ก็ให้ผู้มีอำนาจสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติราชการ

การสั่งพักราชการให้สั่งพักตลอดเวลาที่สอบสวนหรือพิจารณา เว้นแต่ผู้ถูกสั่งพักราชการได้ร้องทุกข์ตามาตรา 122 และผู้มีอำนาจพิจารณาคำร้องทุกข์เห็นว่าสมควรสั่งให้ ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการก่อนการสอบสวนหรือพิจารณาเสร็จสิ้น เนื่องจากพฤติการณ์ของผู้ถูกสั่งพักราชการไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือพิจารณาและไม่ก่อให้เกิดความ ไม่สงบเรียบร้อยต่อไป หรือเนื่องจากการดำเนินการทางวินัยได้ล่วงพ้น 1 ปี นับแต่วันพักราชการ และไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว ให้ผู้มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการก่อนการสอบสวนหรือพิจารณาเสร็จสิ้น (ใช้กับกรณีถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนด้วย)

การอุทธรณ์

มาตรา 114

ผู้ถูกสั่งโทษตามพระราชบัญญัตินี้หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ตามมาตรา 110 (1), (3), (5) – (8) ผู้นั้นมีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยตามกฎ ก.พ.ค.

มาตรา 116

เมื่อ ก.พ.ค. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 57 ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยภายใน 30 วันนับแต่วันที่ ก.พ.ค. มีคำสั่งวินิจฉัย

กรณีผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. ให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.

ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามถือว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ๆ

บทเฉพาะกาล

มาตรา 132

ในระหว่างที่ยังมิได้ออก พ.ร.ฎ. หรือ ออกกฎ ก.พ. ข้อบังคับหรือระเบียบหรือกำหนดกรณีใด เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ให้นำ พ.ร.ฎ. กฎ ก.พ. ข้อบังคับหรือระเบียบ หรือกรณีที่กำหนดไว้ ซึ่งใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.นี้

มาตรา 133

ข้าราชการมีกรณีกระทำผิดวินัยหรือสมควรให้ออกจากราชการอยู่ก่อน พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งลงโทษผู้นั้นหรือสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฯ ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ส่วนการสอบสวนการพิจารณาและการดำเนินการเพื่อลงโทษหรือให้ออกจากราชการให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. นี้ เว้นแต่

1. ผู้บังคับบัญชาสั่งให้สอบสวนอยู่ก่อน ยังสอบสวนไม่เสร็จให้สอบสวนต่อไป

2. ผลการสอบสวนหรือพิจารณาเสร็จก่อน ให้เป็นอันใช้ได้ 3. การรายงานหรือส่งเรื่องหรือนำสำนวนเสนอหรือส่งให้ อ.ก.พ. สามัญ ใด พิจารณาอยู่ก่อน ก็ให้พิจารณาต่อไปจนแล้วเสร็จ

การรักษาวินัย

องค์ประกอบการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

มาตรา 85 (1) การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต

องค์ประกอบความผิด

1. มีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏิบัติ

การมีสิทธิกับการมีหน้าที่ ต้องแยกต่างหากจากกัน เช่น ข้าราชการมีสิทธิขอเบิกเงินสวัสดิการจากทางราชการ ไม่ถือเป็นหน้าที่ราชการ

2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ

การปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่รวมถึงการปฏิบัติในการใช้สิทธิขอเบิกจ่ายเงิน ที่ทางราชการให้สิทธิเบิกได้ เช่น เงินค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางไปราชการ หรือเงินสวัสดิการต่าง ๆ

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หมายถึง มีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏิบัติแต่ไม่ปฏิบัติหรืองดเว้นไม่กระทำการตามหน้าที่โดยจงใจหรือเจตนาไม่ปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นเรื่องพลั้งเผลอ หลงลืม หรือเข้าใจผิด

มิชอบ หมายความว่า ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ คำสั่งของผู้บังคับบัญชา มติคณะรัฐมนตรี แบบธรรมเนียมของทางราชการ หรือตามทำนองคลองธรรม คือ ไม่เป็นไปตามทางที่ถูกที่ควร

การปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ หมายความรวมถึงการเรียกค่าตอบแทนโดยมิชอบในการปฏิบัติ หรือเพื่อจะปฏิบัติหน้าที่ราชการ แม้เนื้อหาการปฏิบัติหน้าที่จะเป็นไปโดยถูกต้อง

3. เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบดังกล่าวข้างต้น

มาตรา 85 (2) ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง

องค์ประกอบความผิด

1. ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ ไม่จำกัดเงื่อนเวลามากน้อย

2. โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร พิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป ว่าพฤติการณ์ของการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการนั้น มีสาเหตุอย่างไร และเป็นสาเหตุที่มีเหตุผลความจำเป็นถึงขนาดที่จะต้องกระทำผิดหรือไม่ เหตุผลเกี่ยวกับธุระส่วนตัวโดยปกติแล้วไม่อาจรับฟังได้

3. เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หมายถึง ได้มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ราชการอย่างร้ายแรง และความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงมาจากเหตุที่ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการนั้น

มาตรา 85 (3) ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินสิบห้าวัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

องค์ประกอบความผิด

1. ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน

หมายถึง การละทิ้งหน้าที่ราชการต่อเนื่องโดยไม่ได้มาหรือไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการเลยติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน เช่น ตั้งแต่ 16 วันขึ้นไป

การมาลงชื่อลงเวลาเพื่อที่จะให้เป็นหลักฐานว่าได้มาปฏิบัติราชการและละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่ได้ปฏิบัติราชการเลยทั้งวัน ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการเต็มวัน

การนับวันละทิ้งหน้าที่ในกรณีที่มีวันหยุดราชการอยู่ในช่วงกลางของเวลา ต้องนับวันหยุดราชการนั้นเป็นวันละทิ้งหน้าที่ติดต่อในคราวเดียวกันด้วย แต่ถ้าวันหยุดราชการอยู่ก่อนเวลาเริ่มละทิ้งหน้าที่ หรืออยู่ถัดเวลาสิ้นสุดที่ละทิ้งหน้าที่ ไม่นับวันหยุดราชการนั้นเป็นวันละทิ้งหน้าที่ราชการ

2. โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ

โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร พิจารณาเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว

โดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ในการละทิ้งหน้าที่ว่ามีเจตนา หรือจงใจฝ่าฝืนระเบียบของทางราชการเกี่ยวกับการหยุดราชการหรือการลาหรือไม่

เวรรักษาสถานที่ราชการละทิ้งหน้าที่ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรงกะทันหันจำเป็นต้องไปพบแพทย์ตรวจรักษา มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต เห็นได้ว่ามีเหตุผลอันสมควรละหน้าที่เนื่องจากต้องหลบเจ้าหนี้ หรือหลบหนีคดีอาญา หรือหลบหนีศัตรู เนื่องจากคาดหมายว่าจะมีผู้ติดตามปองร้าย สาเหตุเหล่านี้เป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่อาจนำมารับฟังเป็นเหตุอันสมควร

ละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่มีร่องรอย ไม่บอกกล่าวผู้ใด ไม่มีผู้ใดทราบสาเหตุ ไม่ทราบว่าไปทำอะไรอยู่ที่ไหน ถือว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร เว้นแต่ไม่สามารถฟังได้แน่ชัดว่าการที่ข้าราชการผู้นี้ไม่มาปฏิบัติราชการเป็นเพราะมีเจตนาที่จะละทิ้งหน้าที่ราชการ หรือเป็นเพราะถูกคนร้ายจับตัวไปควรสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

มาตรา 85 (4) กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

องค์ประกอบความผิด

1. เป็นการกระทำที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างร้ายแรง

2.เป็นการกระทำที่สังคมรู้สึกรังเกียจอย่างร้ายแรง หรือเป็นที่รังเกียจของสังคม โดยพิจารณาจากความรู้สึกของประชาชนหรือของข้าราชการทั่วไป ความรู้สึกของสังคมนี้ อาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาได้

3. เป็นการกระทำโดยเจตนาชั่วอย่างร้ายแรง พิจารณาเจตนาที่แท้จริงในการกระทำ หรือเป็นการกระทำที่เกิดจากความชั่วในจิตใจหรือไม่

มาตรา 85 (5) ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหงหรือทำร้ายประชาชนผู้ติดต่อราชการอย่างร้ายแรง

องค์ประกอบความผิด

1. ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่หรือข่มเหงประชาชนผู้ติดต่อราชการ

ดูหมิ่น หมายถึง สบประมาท ดูถูกว่าไม่ดี

เหยียดหยาม หมายถึง ดูหมิ่น ดูถูก หรือรังเกียจ โดยเหยียดให้ต่ำลง เช่น เหยียดคนลงเป็นสัตว์

กดขี่ หมายถึง ข่มให้อยู่ในอำนาจตน ใช้อำนาจบังคับเอา แสดงอำนาจเอา

ข่มเหง หมายถึง ใช้อำนาจรังแก

ประชาชนผู้ติดต่อราชการ หมายถึง ประชาชนที่ติดต่อราชการหน่วยงานของตน ซึ่งอาจเป็นการติดต่อซึ่งห่างโดยระยะทาง เช่น ติดต่อทางโทรศัพท์ เป็นต้น ซึ่งไม่รวมถึงประชาชนทั่วไปหรือเพื่อนบ้าน ซึ่งมิได้ติดต่อราชการ การทะเลาะวิวาทกับเพื่อนบ้านจึงไม่ผิดตามมาตรานี้

2. เป็นการกระทำในฐานะที่เป็นข้าราชการ

หมายถึง กระทำโดยแสดงตนว่าเป็นข้าราชการหรือเป็นการกระทำที่ประชาชนรู้สึกว่าเป็นการกระทำของข้าราชการ เช่น กระทำในขณะแต่งเครื่องแบบข้าราชการ หรือกระทำโดยผู้ซึ่งประชาชนทั่วไปรู้จักดีว่าเป็นข้าราชการ

3. มีผลเสียกระทบถึงภาพพจน์ส่วนรวมของข้าราชการ หรือทางราชการ หมายถึง เป็นการกระทำที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกรังเกียจหรือชิงชังบรรดาข้าราชการทั้งหลาย หรือรัฐบาล หรือทางราชการเป็นส่วนรวม

4. กระทำโดยมีเจตนาโดยตรง หมายถึง ให้คำนึงถึงเจตนาที่แท้จริงในการกระทำนั้นด้วย เช่น การกระทำโดยเจตนาดี แต่เป็นผลกระทบให้มีการกล่าวดูหมิ่นเหยียดหยามประชาชนบางคน ยังไม่เข้าองค์ประกอบนี้

มาตรา 85 (6)

กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือได้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

องค์ประกอบความผิด

1. ฐานกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ได้รับโทษจำคุกนี้ หมายถึงว่าคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้จำคุกและไม่รอการลงโทษ หรือยกโทษจำคุก หรือเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษสถานอื่น และหมายความรวมถึงกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก โดยอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย เนื่องจากจำเลยหลบหนีด้วย

โทษที่หนักกว่าจำคุก คือ ประหารชีวิต

โทษจำคุกตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจพิเศษที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมีผลเสมือนเป็นโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดตามมาตรา 81 วรรคสองด้วย

มาตรา 85 (7)

ละเว้นการกระทำหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 82 หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 83 อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการย่างร้ายแรง

องค์ประกอบความผิด

1. มีการละเว้นการกระทำหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 82 หรือ

2. มีการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 83

3. เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงมาจากเหตุการณ์ละเว้นหรือกระทำการใด ๆ หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามข้อ 2 ดังกล่าว

ที่มา:
http://www.dnp.go.th/PerDiscipline/วินัยเรียงหน้า.doc(สำเนาถูกต้อง - กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/043/T_0001.PDF

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุปมา อุปไมย สำนวนการเปรียบเทียบ ของไทย

ความสามารถทั่วไปด้านเหตุผล การหาความสัมพันธ์จาก ภาพ สัญลักษณ์

แนวข้อสอบ เงื่อนไขสัญลักษณ์