โรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง และก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดปัญหากับ ฟันและเหงือก ตา ไต หัวใจ หลอดเลือดแดง โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ

โรคเบาหวานมีหลายชนิด คนส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 diabetes)

โรคเบาหวานประเภทที่ 2 เกิดในผู้ป่วยอายุมากกว่า30ปี และมักจะอ้วน ผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ อาการค่อยๆเป็นโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเรื้อรังที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และก่อให้เกิดการตายของผู้ป่วยจากภาวะแทรกซ้อนในหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก และหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ โดยภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยนั้น ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนทางตา (Retinopathy) ไต (Nephropathy) ระบบประสาท (Neuropathy) และโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนั้น สาเหตุการตายที่สำคัญในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 คือจากภาวะแทรกซ้อนของโรคหลอดเลือดหัวใจ

สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นเบาหวาน ท่านมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานกันทุกคน เราจะลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานกันอย่างไร

วิธีลดอัตราการเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ประเภทที่ 2
ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมีหลายประการ เช่น สภาพแวดล้อม และกรรมพันธ์ ในประเทศอเมริกา พบว่า ผู้ชายมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน 33% และผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน 39%

กรรมพันธุ์
ผู้ที่มีญาติสนิทที่เคยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 diabetes) มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานสูง
เชื้อชาติเผ่าพันธ์
คนอเมริกันผิวขาว มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน 7.2% แต่คนอเมริกันผิวดำมีความเสี่ยง 11% และอินเดียแดง มีความเสี่ยงสูงถึง 35%
น้ำหนักแรกเกิด
เด็กแรกเกิดที่น้ำหนักน้อยมีความเสียงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า
ความอ้วน
อาจจะเรียกได้ว่า เป็นปัจจัยหลักต่อความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานทีเดียว
เพราะความอ้วน (Obesity) ทำให้ร่างกายต่อต้านอินซูลิน มีการวิจัยพบว่า ผู้ที่อ้วนลดลง มีความไวต่ออินซูลิน(insulin sensitivity)มากขึ้น การไหลเวียนของน้ำตาลในเลือดดีขึ้น การกระจายของไขมันก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย พบว่า คนที่มีรูปร่างคล้ายลูกแพ (เอวเล็กกว่าสะโพก) มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานมากกว่าคนที่มีรูปร่างเหมือนแอบเปิ้ล (เอวใหญ่กว่า)หรือที่เรียกว่า อ้วนลงพุง
เรื่องชาติพันธ์ กรรมพันธ์ เราคงทำอะไรไม่ได้มากนัก แต่เราสามารถปฏิบัติตน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเป็นโรคเบาหวานได้ จะได้ไม่ต้องไปรอพบหมอในวันที่โรงพยาบาลเปิดคลีนิคโรคเบาหวาน

การปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงโรคเบาหวาน

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีผลการวิจัยระบุว่า ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การเผาผลาญแคลอลี่ ทุก ๆ 500 kcl ในแต่ละสัปดาห์ จะลดอัตราการเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานลงได้ 6% การออกกำลังกายทำให้ร่างกายใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เป็นการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ คนทั่วไปควรออกกำลังกาย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
  • กินอาหารที่มีเส้นใยเยอะ ๆ เช่น ผลไม้ ผัก ถั่ว เป็นต้น อาหารที่มีเส้นใย จะทำให้อิ่มนาน จึงช่วยลดน้ำหนักได้ นอกจากนี้ ยังช่วยการควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
  • กินอาหารที่เป็น Whole grain
    ซึ่งเป็นอาหารที่ทำจากธัญญพืชทั้งเมล็ด ไม่ใช่ฟอกเอาแต่ส่วนที่เป็นแป้งขาว ๆ มาเท่านั้น เช่น ขนมปัง เลือกที่เป็น Whole grain ซึ่งมักจะมีสีออกน้ำตาล ไม่ใช่ที่เป็นขนมปังขาว ๆ ดูที่ฉลากประกอบด้วย ให้มีคำว่า whole ไว้ก่อนเป็นใช้ได้ เช่น โฮลหวีด whole wheat (ข้าวสาลี) เป็นต้น อาหารประเภทนี้ ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือก จึงลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
  • ควบคุมน้ำหนัก มีการวิจัยพบว่า คนอ้วนที่ลดน้ำหนักลง 1 กิโลกรัม สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานลงได้ 16% ผู้ที่ควบคุมน้ำหนักให้ลดลงได้ ประมาณ 5-10% และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นระยะเวลา 3 ปี จะลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ถึง 60%
  • ไม่สูบบุหรี ผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 3 เท่า ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การสูบบุหรี่เป็นอุปสรรคต่อการใช้อินซูลินของร่างกาย และพบว่า หลังการสูบบุหรี่ ปริมาณน้ำตาลในเลือดมีระดับสูงขึ้น และพบว่าการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการกระจายของไขมัน คนสูบบุหรี่มักจะมีรูปร่างคล้ายแอบเปิ้ล (เอวใหญ่กว่าสะโพก)
  • หลีกเลี่ยงสูตรอาหารที่โฆษณาว่าจะช่วยลดความอ้วนได้อย่างปาฏิหาร อาหารพวกนี้มักจะมีคาร์โบไฮเดรทน้อย อาจจะช่วยลดน้ำหนักได้ในระยะสั้น แต่ไม่ยืนยันว่าจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ ซ้ำร้ายอาจจะทำให้เกิดภาวะการขาดสารอาหารได้อีกด้วย จึงควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกทานอาหารที่มีกลูโคสต่ำ เช่น ธัญพืช ข้าวไม่ขัดขาว นม โยเกิร์ต ผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน เค็ม และมันจนเกินไป เป็นดีที่สุด

ท่านทราบหรือไม่ว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ ลองตรวจสอบตัวเองจากอาการของการเป็นโรคเบาหวานต่อไปนี้

อาการของโรคเบาหวาน

คนปกติก่อนรับประทานอาหารเช้าจะมีระดับน้ำตาลในเลือด 70-110 มก.% หลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ชม.ระดับน้ำตาลไม่เกิน 140 มก.% ผู้ที่ระดับน้ำตาลสูงไม่มากอาจจะไม่มีอาการอะไร การวินิจฉัยโรคเบาหวานจะทำได้โดยการเจาะเลือด อาการที่พบได้บ่อย

  • คนปกติมักจะไม่ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะในเวลากลางดึกหรือปัสสาวะอย่างมากไม่เกิน 1 ครั้ง เมื่อน้ำตาลในกระแสเลือดมากกว่า180มก.% โดยเฉพาะในเวลากลางคืนน้ำตาลจะถูกขับออกทางปัสสาวะทำให้น้ำถูกขับออกมากขึ้น จึงมีอาการปัสสาวะบ่อยและเกิดการสูญเสียน้ำ และอาจจะพบว่าปัสสาวะมีมดตอม
  • ผู้ป่วยจะหิวน้ำบ่อยเนื่องจากต้องทดแทนน้ำที่ถูกขับออกทางปัสสาวะ
  • อ่อนเพลีย น้ำหนักลดเกิดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลจึงย่อยสลายส่วนที่เป็นโปรตีนและไขมันออกมา
  • ผู้ป่วยจะกินเก่งหิวเก่งแต่น้ำหนักจะลดลงเนื่องจากร่างกายน้ำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ จึงมีการสลายพลังงานจากไขมันและโปรตีนจากกล้ามเนื้อ
  • อาการอื่นๆที่อาจเกิดได้แก่ การติดเชื้อ แผลหายช้า คัน
  • คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้หญิง สาเหตุของอาการคันเนื่องจากผิวแห้งไป หรือมีการอักเสบของผิวหนัง
  • เห็นภาพไม่ชัด ตาพร่ามัวต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสายตา เช่นสายตาสั้น ต่อกระจก น้ำตาลในเลือดสูง
  • ชาไม่มีความรู้สึก เจ็บตามแขนขาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากน้ำตาลสูงนานๆทำให้เส้นประสาทเสื่อม เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เพราะไม่รู้สึก

และเมื่อไรควรไปพบแพทย์
มีคำแนะนำว่า ถ้าท่านอายุเกิน 45 ปี ไม่ว่าจะมีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือไม่ก็ตาม ควรไปพบแพทย์และตรวจเลือดเพื่อการวินิจฉัย และคำแนะนำในการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากโรคเบาหวาน เป็นดีที่สุด


อ้างอิง
http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/endocrine/DM/intro.htm
http://www.medicinenet.com/diabetes_prevention/page2.htm
http://www.medicinenet.com/diabetes_prevention/page5.htm
http://www.thaihp.org/index.php?option=other_detail&lang=th&id=36&sub=26
http://www.mayoclinic.com/health/diabetes-prevention/DA00127
http://learners.in.th/blog/edu3204somruthai/340697

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุปมา อุปไมย สำนวนการเปรียบเทียบ ของไทย

แนวข้อสอบ เงื่อนไขสัญลักษณ์

ความสามารถทั่วไปด้านเหตุผล การหาความสัมพันธ์จาก ภาพ สัญลักษณ์